รู้ทันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ผู้สูงวัยควรระวัง

มะเร็งโรคร้ายที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะจัดว่าเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer)

1.การสูบบุหรี่ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นราว 3-4 เท่า เพราะสารพิษในควันบุหรี่จะทำให้เกิดความเสียหายและเกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีผลต่อการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติ

2.การสัมผัสกับสารเคมีบางอย่าง เช่น อะโรมาติกเอมีน (Aromatic amines) ในอุตสาหกรรมผลิตสี พลาสติก ยาง โลหะ หรือปิโตรเคมีบ่อยๆ

3.การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส รวมถึงปรสิต เช่น พยาธิใบไม้เลือด (Schistosomiasis)

4.พันธุกรรม ก็เป็นปัจจัยร่วมที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค

5.การได้รับสารหนู (Arsenic) ซึ่งมักปนเปื้อนในน้ำดื่มจากการทำการเกษตร

6.การได้รับรังสีในบริเวณอุ้งเชิงกรานจากการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งทางนรีเวช

7.การใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด

อาการของโรค

อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค แต่ที่พบบ่อย

1.ปัสสาวะปนเลือด (Hematuria) แบบที่ไม่มีอาการเจ็บปวด

2.อาการปัสสาวะบ่อย

3.รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรือปลายท่อปัสสาวะขณะเบ่งปัสสาวะ

4.อาการปวดท้องน้อยแม้ไม่ได้ปัสสาวะ

5.ภาวะไตวาย

6.ปวดบริเวณเชิงกรานและหลังส่วนล่างอย่างรุนแรง ขาบวม น้ำหนักลด อ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด กรณีมะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระดูก

การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

โดยทั่วไปการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามอาการและระยะของโรค ดังนี้

1.การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะประเภทไม่ลุกลามเข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ (non-muscle invasive bladder cancer : NMIBC )

กรณีที่เซลล์มะเร็งยังอยู่เพียงบริเวณเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าจี้ทำลายก้อนมะเร็ง โดยหลังผ่าตัดจะมีการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดหรือเคมีบำบัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่

2.การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะประเภทลุกลามเข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ (Muscle invasive bladder cancer : MIBC)

การรักษาจะค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งหนึ่งในวิธีหลักคือการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด รวมถึงต้องพิจารณาตัดท่อไตส่วนปลาย มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และช่องคลอดบางส่วนออกด้วย หลังผ่าตัดจะมีการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือแม้อายุยังไม่มาก แต่มีประวัติการสูบบุหรี่และสัมผัสสารเคมีเป็นประจำ รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ